เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณมิลานน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
หลังจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวและพำนักในประเทศญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 15 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า จึงทำให้มีนักเดินทางจำนวนมากจัดโปรแกรมไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามาก ๆ อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกหลายแห่งด้วยกัน ทำให้สามารถดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีทีเดียว ฉะนั้น เราเลยนำเอาบันทึกการเดินทางของ คุณมิลานน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่บอกเล่าเรื่องราวการเตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองแบบละเอียดมาแนะนำกันจ้า (สามารถดู ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการเที่ยวญี่ปุ่น เพิ่มเติมได้ที่นี่)
ก่อนอื่นขอเล่าก่อนสักนิดถึงการที่ได้ทำกระทู้นี้ขึ้นมาก่อนนะครับ เนื่องจากผมไม่มี Facebook บล็อก หรือ เว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนชอบท่องเที่ยว เลยอยากที่จะแชร์ข้อมูลในสิ่งที่ผมได้เห็น ได้รู้ มาจากสถานที่จริงบ้าง หน้าหนังสือหรือเว็บไซต์บ้าง หรือสื่อชนิดต่าง ๆ บ้าง ให้เพื่อนที่ชอบท่องเที่ยวเหมือนกัน หรือเพื่อนที่อยากไปเที่ยวญี่ปุ่นแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไป ได้รับทราบข้อมูลหรือได้ประโยชน์มากที่สุดจากข้อมูลนี้ ดังนั้น เว็บไซต์ Pantip จึงเป็นช่องทางแรกและทางเดียวที่ผมพอจะคิดออก ในการเลือกที่จะแชร์ขอมูลเหล่านี้ไปสู่เพื่อนสมาชิกชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกท่าน โดยตั้งหัวข้อกระทู้ว่า "คู่มือและรีวิวการไปเที่ยวญี่ปุ่นฉบับสมบูรณ์" เนื่องจากว่าผมคิดไม่ออกว่ามันจะเป็นกระทู้คู่มือหรือกระทู้รีวิวดี ผมก็เลยเอาสองอย่างเอามาใส่ไว้ในกระทู้เดียวกัน ซึ่งพยายามจะทำให้ละเอียดที่สุดเท่าที่ทำได้
ผมขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ใช่เซียน ไม่ใช่กรูรูที่รู้หมดทุกอย่าง ผมไม่ใช่คนที่เขียนบทความเก่งขั้นเทพถึงขนาดเขียนบทความขายเหมือนคนอื่นเขาได้ แต่กระทู้นี้ผมพยายามตั้งใจทำ โดยรวบรวมข้อมูลที่ตัวเองรู้ เห็น และได้เจอมากับตัว และข้อมูลจากหนังสือและเว็บไซต์ต่าง ๆ เพียงเพราะหวังว่ากระทู้ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้คงได้ประโยชน์ต่อใครหลายคน
ป.ล. ผมพยายามเขียนข้อมูลให้เข้าใจง่ายและละเอียดที่สุด (ตั้งแต่วันที่มีความคิดจะไปญี่ปุ่น จนถึงวันที่เดินทางกลับมาเมืองไทย) หากข้อมูลส่วนไหนเพื่อนสมาชิกท่านใดทราบอยู่แล้วโปรดจงข้ามไปอ่านหัวข้อต่อไปหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนสมาชิกท่านอื่น และบางเนื้อหาผมจำต้องขออ้างข้อมูลจากกระทู้เก่า ๆ ของเพื่อนสมาชิกท่านอื่นในเว็บไซต์นี้ หรือเว็บไซต์อื่นจึงขออภัยและขอบคุณล่วงหน้าสำหรับข้อมูลดี ๆ ต่อไปนี้ครับ
** เรื่องค่าใช้จ่ายผมไม่ขอบอกแล้วกันว่าผมใช้รวมไปตลอดทริปเท่าไหร่ เพราะถ้าหากบอกไปว่าทริปนี้ผมใช้ไป 2 หมื่นบาท 3 หมื่นบาท 4 หมื่นบาท หรือ 1 แสนบาท เดี๋ยวจะมีคนสงสัยว่า
- ไอ้...บาท (ที่กล่าวมา) ใช้อะไรไปบ้าง ?
- หรือมีวิธีไหนบ้างที่ใช้ได้ถูกกว่านี้ ?
- ทำไมคุณไปเที่ยวแล้วแพงจัง หรือทำไมคุณไปเที่ยวได้ถูกจัง
ผมจึงไม่ขอบอกดีกว่าว่าตลอดทริปผมใช้อะไรไปกี่บาท แต่ผมจะขอแจกแจงรายละเอียดการใช้จ่ายที่จำเป็น เป็นวัน ๆ ให้เห็นกันไปเลยดีกว่า ส่วนจะถูกจะแพงก็แล้วแต่ตัดสินใจ จะตามหรือจะเลี่ยงไม่เอาอย่างก็แล้วแต่ดุลพินิจ เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันของนักท่องเที่ยวทุกคน ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ผมขอบอกแต่ค่าใช้จ่ายที่จำต้องจ่าย (ค่าเดินทาง ที่พัก ค่าเข้าชม) ส่วนค่ากิน ค่าช้อป ค่าขนม ค่าน้ำ ค่ารถ ค่าอะไรเล็กน้อย ไม่ถึง 100 บาท ผมขอไม่กล่าวแล้วกัน เพราะค่าใช้จ่ายพวกนี้มันแล้วแต่ตัวบุคคล เพราะบางคนกินแพง บางคนกินถูก บางคนกินน้อย บางคนกินมาก ต่าง ๆ กันไป
** รีวิวนี้ผมจะใช้สมมติฐานว่าทุกคนที่เข้ามาอ่านไม่เคยไปญี่ปุ่น ดังนั้น ผมจะรีวิวให้ละเอียด (แจกแจงเป็นช่วงเวลา) กันแบบสุด ๆ ไปเลย เพื่อประโยชน์ของเพื่อนสมาชิกที่สนใจได้อ่านและเข้าใจง่ายที่สุด หากท่านใดทราบส่วนไหนแล้วอย่าเพิ่งรำคาญนะครับ ถือว่าให้คนที่ยังไม่รู้ได้รู้แล้วกันนะครับ
^^^ สะพานข้ามไปยังหมู่บ้านชิราคาวาโกะ (ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1995) ในวันที่ฟ้าหม่นและเต็มไปด้วยสายหิมะที่โปรยปราย
ในวัน ที่ฟ้าหม่น หวังมีคน มาร่วมทาง
ในวัน ที่อ้างว้าง อยากมีบ้าง ใครเข้าใจ
ในวัน ที่หนาวเหน็บ ไม่อยากเก็บ ความเหงาไว้
โปรดเถิดยอดดวงใจ อย่าทำให้ ฉันหนาวตรม
^^^ เมืองทาคายาม่า ยามใกล้ค่ำแห่งเหมันต์ (ฤดูหนาว)
เมื่อถึง ยามเหมันต์ กายเริ่มสั่น ใจเริ่มหมอง
เห็นใคร มีคู่ครอง ได้แต่มอง อิจฉาไป
แลเห็น แสงไฟรถ ยิ่งสลด กว่าคืนไหน
"คู่ครอง" เหมือน "แสงไฟ" ผ่านมาใกล้ (ก็ผ่านไป) ไม่หยุดลง
^^^ โตเกียวทาวเวอร์ ยืนโดดเดี่ยว ท้าทายสายลม ยามค่ำคืน
^^^ ภูเขาไฟฟูจิ กับเพื่อนซี้ต่างวัย เจดีย์แดง (Chureito Pagoda)
^^^ มุมเหงา ๆ กับเก้าอี้ตัวน้อย
พื้นที่ ณ จุดนี้ เป็นส่วนที่ ไม่มีใคร
ข้างนอก และข้างใน เอาไว้ให้ คนพักพิง (คนที่ต้องการนะ)
เก้าอี้ ที่ตรงหน้า ให้กายล้า ได้นอนนิ่
หัวใจ นั้นคือสิ่ง ให้เธออิง เมื่อหลับลง
^^^ ฟูจิ ยืนอย่าโดดเดี่ยว แบบเหงา ๆ
^^^ แม่และลูก ๆ (ลิง) แช่ออนเซนกันอย่างมีความสุข
สุขใด ไม่แม้นเหมือน ได้เจอเพื่อน ในออนเซน
พาลูก ได้มาเห็น คลายความเย็น ในพงไพร
^^^ วัดในเมืองทาคายาม่า ถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์
เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน ผมขอแยกเป็นหัวข้อดังนี้ครับ
มารู้จักญี่ปุ่นกันหน่อย
จะไปไหนดี ในญี่ปุ่น
เตรียมตัวก่อนออกเดินทาง
1. หนังสือเดินทาง (Passport)
2. ทำโปรแกรม
3. วีซ่า/ไม่ต้องวีซ่า
4. จองตั๋วเครื่องบิน
5. จองที่พัก
6. จองและหาวิธีการเดินทาง
7. เตรียมอุปกรณ์การเดินทางและเครื่องใช้ส่วนตัว
7.1. กระเป๋า
7.2. เครื่องแต่งกาย
7.3. โทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสาร
7.4. กล้องและอุปกรณ์ถ่ายรูป
7.5. คาดคะเนค่าใช้จ่าย
7.6. แลกเงิน
คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับญี่ปุ่น
เดินทาง
วันที่ 1 กรุงเทพฯ >> กัวลาลัมเปอร์ >> โตเกียว (ขั้นตอนการผ่าน ตม.)
วันที่ 2 โตเกียว >> ทาคายาม่า
วันที่ 3 หมู่บ้านชาราคาวาโกะ
วันที่ 4 ฮิดะ ทาคายาม่า >> มัตสึโมโตะ >> นากาโนะ
วันที่ 5 ยูดานากะ (ยามาโนชิ มาชิ)
วันที่ 6 ยูดานากะ >> โตเกียว
วันที่ 7 โตเกียว >> คาวากุจิโกะ
วันที่ 8 โตเกียว >> ประเทศไทย
มารู้จักญี่ปุ่นกันหน่อย
ญี่ปุ่น (Japan/Nihon /Nippon เจแปน/นิฮง/นิปปง) มีชื่อทางการ คือ ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตก ติดกับคาบสมุทรเกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีทะเลญี่ปุ่นกั้น ส่วนทางทิศเหนือติดกับประเทศรัสเซีย มีทะเลโอค็อตสค์เป็นเส้นแบ่งแดน ตัวอักษรคันจิของชื่อญี่ปุ่น แปลว่า ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์ จึงทำให้บางครั้งถูกเรียกว่าดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย
ญี่ปุ่น มีเนื้อที่กว่า 377,930 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 61 ของโลก หมู่เกาะญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 3,000 เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ เกาะฮอนชู ฮอกไกโด คิวชู และชิโกกุตามลำดับ เกาะของญี่ปุ่นส่วนมากจะเป็นหมู่เกาะภูเขา ซึ่งในนั้นมีจำนวนหนึ่งเป็นภูเขาไฟ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ เป็นต้น ประชากรของญี่ปุ่นนั้นมีมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก คือ ประมาณ 128 ล้านคน เมืองหลวงของญี่ปุ่น คือ กรุงโตเกียว ซึ่งถ้ารวมบริเวณปริมณฑลเข้าไปด้วยแล้วจะกลายเป็นเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก (แหล่งข้อมูลจาก Wikipedia)
จะไปไหนดีในประเทศญี่ปุ่น ?
คงเป็นคำถามยอดฮิตและข้อแรกสำหรับคนที่จะไปญี่ปุ่น ว่าจะไปญี่ปุ่นและจะไปแถวไหนเมืองไหน
ขอบอกเลยครับว่าจะไปเมืองไหนที่ไหนนั้น แล้วแต่คนชอบ แล้วแต่รสนิยมและความต้องการของแต่ละคน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใหญ่และมีครบทุกอย่าง คงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ไม่ยาก ดังนั้น ผมจึงขอเสนอสูตร การเลือกสถานที่ที่จะไปในญี่ปุ่น ไว้แบบคร่าว ๆ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 สูตรหลัก ๆ ดังนี้
1. เลือกตามสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากจะไป คือ คุณมีสถานที่อยู่ในใจเลยครับว่าอยากไปเที่ยวไหน เช่น สถานที่ ก สถานที่ ข สถานที่ ค เสร็จแล้วก็กางแผนที่ออกมาดู ว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ส่วนไหนของญี่ปุ่น >> แล้วก็วางแผนเดินทาง >> แล้วก็ไป เช่น อยากไปเห็นฟูจิ อยากไปเห็นปราสาทฮิเมจิ อยากไปอะตอมมิคบอมบ์โดม
2. เลือกตามฤดูกาล คือ คุณอยากเห็นอะไร ในช่วงเวลาไหนก็ให้เลือกมาในช่วงเวลานั้น เช่น อยากเห็นใบไม้เปลี่ยนสี อยากเห็นซากุระ อยากเจอหิมะ ซึ่งแต่ละช่วงเวลาของแต่ละฤดูกาลจะไม่เหมือนกัน
แต่ละฤดูกาล ดังนี้
ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-พฤษภาคม) เริ่มต้นในเดือนมีนาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาแห่งความสดชื่นเบิกบาน ดอกไม้เริ่มผลิแย้ม ใบไม้สีเขียวขจีแตกยอดชูไสว ลมเอื่อย ๆ เริ่มพัดพาเอากลิ่นไอแห่งธรรมชาติ เป็นฤดูที่น่าเที่ยวมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนอันเป็นเดือนที่ดอกซากุระบานสะพรั่ง ทุกแห่งหนจะถูกปกคลุมไปด้วยสีชมพูและขาว ชาวญี่ปุ่นจะพากันเอาเสื่อมาปูใต้ต้นซากุระ และจิบสาเกพลางชื่นชมความงามของซากุระ เป็นภาพที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำและประทับใจ โดยเฉพาะสวนซากุระที่ ศาลเจ้าเฮย์อัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสวนซากุระที่สวยที่สุดในโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าซากุระนี้จะบานอยู่เพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น อุณหภูมิประมาณ 12-16 c
ฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) ฤดูร้อนในญี่ปุ่นเริ่มในเดือนมิถุนายน ซึ่งก่อนหน้านี้จะฝนตกอยู่ประมาณ 5 อาทิตย์ ทำให้ซากุระร่วงหมด แต่จะกลายเป็นการเริ่มต้นแห่งฤดูปลูกข้าวของชาวนา อากาศจะเริ่มอบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ฤดูนี้จะเป็นฤดูแห่งความสนุกสนาน เพราะเป็นช่วงที่มีเทศลากประจำปีต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งการเฉลิมฉลองต่าง ๆ เป็นช่วงแห่งการท่องเที่ยวและตากอากาศตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จนเต็มไปด้วยผู้คนทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะตามสถานที่ตากอากาศแถบชายทะเลและภูเขา เป็นฤดูที่มีอากาศดี ท้องฟ้าสีครามสดใส เหมาะแก่การถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง ในฤดูนี้จะมีผลไม้มากมาย นับเป็นฤดูที่น่าท่องเที่ยวมากไม่แพ้ฤดูใบไม้ผลิ
ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) ฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่นจะเริ่มในราวเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่มีอากาศดี เพราะหลังจากฤดูร้อนผ่านพ้นไป ลมเย็นเอื่อย ๆ ก็พัดมาแทนที่ เหล่าพฤกษานานาพรรณเริ่มผลัดสีจากเขียวเป็นแดง ส้ม เหลือง แล้วก็พากันร่วงหล่นลงดิน เหลือแต่กิ่งก้านโบกไหวไปตามลมรอวันที่ลมหนาวพัดมาเยือนอย่างท้าทาย ในฤดูนี้นับว่าเป็นฤดูที่มีสีสันมากที่สุดตามภูเขาในป่า สวนสาธารณะจะเต็มไปด้วยสีแดง ส้ม เหลือง และบรรดาพฤกษาผลัดสีทั้งหลายนี้ มีมากมายหลายพันธุ์ที่พอสลัดใบร่วงหล่นหมดก็จะแตกช่อออกดอก นับเป็นช่วงฤดูกาลที่สวยสดงดงามยิ่งนัก และโดยเฉพาะสำหรับชาวญี่ปุ่นมันเป็นช่วงเวลาแห่งการกีฬา ดนตรี และพักผ่อน อุณหภูมิประมาณ 14-18 c
ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) ฤดูหนาวของญี่ปุ่นเริ่มต้นในราวเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูกาลที่หนาวเย็น ทุกแห่งหนเต็มไปด้วยหิมะปกคลุมขาวโพลนอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในทางภาคเหนือ น้ำในแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบ บางแห่งจะกลายเป็นน้ำแข็ง บรรดาเด็กและผู้ใหญ่ต่างพากันออกมาเล่นสเกตน้ำแข็งกัน ส่วนบนภูเขาก็จะมีการเล่นสกีกันอย่างสนุกสนาน ในเมืองซัปโปโร ที่เกาะฮอกไกโด จะมีงาน “เทศกาลหิมะ” เฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ เป็นงานเทศกาลใหญ่ระดับโลกก็ว่าได้ มีการประกวดการปั้นหิมะเป็นรูปสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ เป็นช่วงฤดูหนาวแห่งความสุขของครอบครัวอย่างแท้จริง ทุกคนในครอบครัวจะได้มานั่งผิงไฟ รวมกันพูดคุยหยอกล้อเป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีค่ามาก เด็ก ๆ ทุกคนต่างพากันรอนับวันสำคัญที่พวกเขาถือว่า เป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี นั่นคือ วันคริสต์มาสและวันปีใหม่ ทุกแห่งหนจะมีการประดับประดาด้วยไฟหลากสีสวยงาม น่าประทับใจยิ่งนัก อุณหภูมิประมาณ 1-8 c
3. เลือกตามภูมิภาค คือ เป็นวิธีเลือกที่ง่ายต่อการเดินทาง กล่าวคือ เลือกว่าจะไปเที่ยวในโซนไหน ภาคไหน ก็ไปเที่ยวในจังหวัดที่ใกล้กันหรืออยู่ในภูมิภาคเดียวกัน โดยวิธีนี้ให้เลือกจุดเริ่มต้นก่อน แล้วเปิดแผนที่ดูว่าบริเวณใกล้กัน มีอะไรเที่ยวบ้าง ใกล้กันหรือไกลกันแค่ไหน (วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยว)
ญี่ปุ่นแบ่งเป็นภาคต่าง ๆ ดังนี้
ภูมิภาคเหนือ (ฮอกไกโด) เช่น ซัปโปโร ฮะโกะดะเตะ โอะตะรุ อะซะฮิกะวะ ฟุระโนะ ฯลฯ
ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮะกุ) เช่น เซนได อะโอะโมะริ อิวะเตะ ยะมะงะตะ ฯลฯ
ภูมิภาคตะวันออก (คันโต) เช่น โตเกียว นิกโก้ โยโกฮาม่าโทะจิงิ คะนะงะวะ ฯลฯ
ภูมิภาคกลาง (จูบุ) เช่น นาโงย่า ทะกะยะมะ โทะยะมะ นะงะโนะชิซุโอะกะ คะนะซะวะ ฯลฯ
ภูมิภาคตะวันตก (คันไซ) เช่น โอซาก้าเกียวโต โกเบ นารา วะกะยะมะ ฯลฯ
เกาะชิโกะกุและหมู่เกาะทะเลใน (เซโตะไนไค) เช่น ทะกะมะทสุ คะงะวะ โทะกุชิมะ เอะฮิเมะ ฯลฯ
ภาคตะวันตก (จูโงะกุ) เช่น ฮิโรชิม่าโอะกะยะมะ ชิมะเนะทตโตะริ ยะมะงุจิ ฯลฯ
ภาคใต้ (คิวชูและเกาะโอกินะวะ)
4. ซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วค่อยวางโปรแกรม เป็นวิธีที่ง่ายแต่ไม่ควรทำ เพราะมันเป็นวิธีที่บีบตัวเองดี ๆ นี่เอง เพราะวิธีนี้มัน คือ เราหาตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นแล้วซื้อ เมื่อซื้อเสร็จค่อยมาคิดว่าไปไหน ข้อดี คือ มันบีบตัวเราเองให้หาข้อมูลจนไปเที่ยวได้สำเร็จ ส่วนข้อเสีย คือ โปรแกรมและสถานที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของเรา
เตรียมตัวก่อนออกเดินทาง
1. ทำหนังสือเดินทาง (Passport)
หนังสือเดินทาง (Passport) คือ การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น ผู้เดินทางจะต้องมีเอกสารที่ใช้ยืนยันการเป็นประชากรของประเทศบ้านเกิด ซึ่งก็คือ Passport หรือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับบัตรประจำตัวประชาชนในขณะที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความสำคัญสุด ๆ เวลาเดินทางไปต่างประเทศ
ขั้นตอนการขอหนังสือเดินทาง
1. รับบัตรคิว
2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก (หากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง) พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อตรวจสอบข้อมูล
3. ในการทำหนังสือเดินทางจะมีการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ คือ มีการวัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้าย และนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า
4. แจ้งความประสงค์ว่าจะมารับหนังสือเดินทางด้วยตัวเอง หรือต้องการขอรับเล่มทางไปรษณีย์
5. ชำระค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง 1,000 บาท หากต้องการให้จัดส่งทางไปรษณีย์ จะต้องชำระค่าส่งไปรษณีย์ เพิ่มเติมอีก 40 บาท จากนั้นรับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม
เอกสารที่ต้องใช้ในการทำหนังสือเดินทาง (Passport) ดังนี้
การขอทำหนังสือเดินทางสำหรับประชาชนทั่วไป ที่อายุเกิน 20 ปีแล้ว จะต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอทำหนังสือเดินทาง ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งานหรือ บัตรข้าราชการ หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับจริง (ในกรณีที่เป็นบัตรข้าราชการให้นำสำเนาทะเบียนบ้านมาด้วย)
2. หากมีรายการแก้ไขชื่อสกุล หรือวันเดือนปีเกิด ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ
3. การทำหนังสือเดินทางใหม่ ต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
กรณีที่ผู้ยื่นขอเป็นผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ก็จะมีรายละเอียดเอกสารที่ต่างออกไป ดังนี้
1. สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นฉบับสำเนาก็ต้องได้รับการรับรองจากเขตหรืออำเภอ
2. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดา มารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง และหากชื่อ-นามสกุล บิดา มารดา ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย
3. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดา มารดา ในกรณีที่บิดา/มารดาหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาแสดงตัวได้
4. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตร หรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา เป็นต้น
5. การทำหนังสือเดินทางใหม่ ต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
6. ส่วนในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณี บิดา มารดา ของผู้เยาว์เสียชีวิต, กรณีที่บิดา มารดา ของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรส, กรณีที่ไม่สามารถตามหา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้, กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตร อยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดงด้วย
ผู้เยาว์ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถขอทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเองได้โดยใช้เอกสาร ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทย
2. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
3. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรมใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น
4. เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
2. ทำแผนที่การเดินทาง
สำคัญสุด ๆ จะรอดไม่รอดก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้แหละครับ หากขอมูลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หากไม่มีข้อมูลลำบากสุดๆ คำว่าทำแผนการเดินทาง คือ การทำโปรแกรมการเที่ยวนั้นแหละครับ ว่าวันไหนไปไหน ไปอย่างไร (ทำให้ละเอียด) ไปกี่วัน จากที่หนึ่งไปที่หนึ่งไปยังไง และสำคัญ คือ ทำแผนสำรองไว้ด้วย เพราะการเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเอง ไม่เป็นไปตามแผนเสมอหรอกครับ เช่น วันนี้ทำโปรแกรมว่าจะไปสถานที่ a อยู่ที่ a ทั้งวัน แต่เอาเข้าจริงวันนั้นสถานที่ a เข้าไม่ได้เนื่องจากปิดทำการ ถ้าไม่มีแผนสำรองวันนั้นได้นั่งกินมาม่าที่โรงแรมไม่ต้องไปไหนแน่นอนครับ
เทคนิคการทำโปรแกรมที่ควรต้องทำ คือ ทำให้เยอะ(เขียนโปรแกรมและสถานที่ท่องเที่ยวไปให้เยอะ ๆ ให้ละเอียด ส่วนเมื่อไปถึงจริงจะไปไม่ไปก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะถ้าทำแบบนี้แล้วมันเกิดเหตุสุดวิสัยไปสถานที่ที่กำหนดไม่ได้ก็ยังไปที่อื่นได้) และเผื่อเวลาให้มาก ๆ (สำคัญมากครับ การเผื่อเวลา เช่น ไปถึงเมือง ก . 10.00 น. ต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไปที่เมือง ก. ผมแนะนำให้กะเวลาเปลี่ยนรถไฟให้นาน ๆ นานเท่าไหร่ได้ยิ่งดี เช่น ถึงเมือง ก 10.00 น. เวลาที่ควรขึ้นรถไฟไปต่อ คือ 10.20 น. หรือมากกว่านั้น เพราะถ้าเวลาน้อยเกินเช่น มีเวลาเปลี่ยนรถไฟแค่ 5 นาที หากรถไฟคันแรกมันมาช้าไปหกนาที หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เรามาไม่ทันการเปลี่ยนรถไฟ มันจะทำให้เราเกิดปัญหาได้)
แผนการเดินทางของผมเป็นแบบนี้ครับ
วัน 1 Tokyo >> Takayama วันแรกใช้บริการรถบัส ขึ้นจากสถานีชินจูกุ
วัน 2 Takayama (Shirakawago) โดยรถบัส
วัน 3 Takayama >> Matsumoto >> Nagano ใช้บริการรถบัสไป Matsumoto จาก Matsumoto ไป Nagano ไปโดยรถไฟ
วัน 4 Nagano >> Yudanaka โดยรถไฟ
วัน 5 Yudanaka >> Nagano >> Tokyo จาก Yudanaka รถไฟ หลังจากนั้นจาก Nagano กลับ Tokyo (รถไฟ)
วัน 6 Tokyo >> Kawagushiko >> Tokyo
วัน 7 Tokyo ทั้งวัน แล้วเย็น ๆ ไปสนามบินฮาเนดะ
แผนการเดินทางแบบละเอียด
วีซ่าในที่นี้มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "VISA" ซึ่งหมายถึงหลักฐานการอนุญาตให้เข้าประเทศที่ทำเป็นรอยตราประทับ หรือเป็นแผ่นกระดาษสติ๊กเกอร์ติดอยู่ในหนังสือเดินทาง โดยเป็นหลักการเดียวกันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ถือได้ปฏิบัติว่า ก่อนที่คนของประเทศหนึ่งจะเดินทางเข้าไปอีกประเทศหนึ่งประเทศใด ก็จะต้องไปขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศจากกงสุลของประเทศที่จะเดินทางไปเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็จะได้รับการประทับตราวีซ่า หรือติดเป็นสติ๊กเกอร์ที่เป็นวีซ่าให้ในหนังสือเดินทาง ญี่ปุ่นก็เช่นกัน หากจะเข้าประเทศญี่ปุ่นก็ต้องมีวีซ่า เว้นแต่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน >>> ไม่ต้องทำวีซาแต่ต้อง >>>
"จากมาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้กับคนไทย ผู้ที่ประสงค์จะพำนักระยะสั้นในประเทศญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ หรือธุรกิจ อาจจะมีการถูกตรวจสอบเอกสารในขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีคุณสมบัติในการเข้าประเทศญี่ปุ่น"
"ต้องมี"
1. ตั๋วเครื่องบินขาออกจากประเทศญี่ปุ่น
2. สิ่งที่ยืนยันว่าท่านสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น (เช่น เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น)
3. ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น (เช่น คนรู้จัก โรงแรม และอื่น ๆ)
4. กำหนดการเดินทางระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น
(แหล่งที่มา : สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย)
ส่วนหากใครคิดจะไปเกิน 15 วัน และต้องการจะทำวีซ่า โปรดดู >>>> http://travel.kapook.com/view39872.html
4. จองตั๋วเครื่องบิน
"วิธีการจองตั๋วเครื่องบินมี 3 วิธี'"
1. ซื้อผ่านสำนักงานสายการบินโดยตรง (ซื้อตั๋ววิธีนี้อาจต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าวิธีอื่น เพราะต้องซื้อตั๋วในราคาเต็ม)
2. ซื้อผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่ายโดยวิธี ซื้อผ่านหน้าร้าน
3. ซื้อผ่านระบบออนไลน์ มี 2 ประเภท ได้แก่
## ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายตัวของหลายสายการบิน ขอแนะนำสักสี่เว็บไซต์นะครับ
>>> http://www.cheaptickets.co.th
>>> http://www.expedia.co.th
>>> http://www.skyscanner.co.th
>>> http://www.kayak.com/
##การจองแบบออนไลน์ ผ่านเว็บสายการบินโดยตรง ได้แก่
>>> www.airasia.com
>>> www.thaiairways.co.th
ส่วนวิธีการจองก็เหมือนกันทุกเว็บไซต์ครับ คือ ระบุเมืองต้นทางและปลายทาง วันที่เดินทาง จำนวนคนเดินทาง แล้วเมื่อได้ตามที่ต้องการก็กดตกลงแล้วจ่ายเงิน
ถ้าใครยังจองไม่เป็นลองดูและหัดทำครับ ทุกเว็บทุกสายการบินส่วนใหญ่ใช้วิธีจองคล้ายกันหมด
>>> http://www.youtube.com/watch?v=bEV1QbiBWnk
ส่วนถ้าใครจองเป็นอยู่แล้วแต่อยากได้เทคนิคการจองแบบถูก ๆ ลองดูครับ
>>> http://pantip.com/topic/30743501 (ของคุณสมาชิกหมายเลข 903595)
>>> http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2011/09/E11088423/E11088423.html (ของคุณ BK_BanK)
** ส่วนของผมจองโดยใช้วิธีจองผ่านเว็บ www.airasia.com (ซื้อล่วงหน้าก่อน 3 เดือนกว่า ๆ) ได้ในราคา 12,000 กว่า ๆ บาท+1,000 กว่าบาท (สัมภาระอีก 20 กิโลกรัม/2 คน) = 13,000 กว่าบาท เคยมีคนถามว่าราคานี้ทำไมไม่เลือกบินสายการบินอื่นที่ไม่ต้องบินลงใต้ (มาเลเซีย) เพื่อไปเปลี่ยนเครื่อง ผมบอกเลยครับว่าถึงแม้ราคาที่ซื้ออาจไม่ถูกจนน่าใจหาย แต่ผมก็ประหยัดค่าโรงแรมไปได้สองคืน (คืนวันไปถึงญี่ปุ่นห้าทุ่มนอนสนามบิน/คืนวันกลับออกจากญี่ปุ่นห้าทุ่ม เที่ยวได้เต็มวันแล้วค่อยขึ้นเครื่อง)
5. จองและหาที่พัก
การหาที่พักในญี่ปุ่นก็เหมือนบ้านเราแหละครับ มี 2 วิธี
1. แบบ Walk-in หรือแปลตามตัว คือ เดินเข้าไปหาไม่ต้องจองแต่ไปหาเอาดาบหน้า แบบนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ จะมีปัญหา โดยเฉพาะลองคิดดูนะครับหากเดินเข้าไปแล้วไม่มีโรงแรม ทุกโรงแรมเต็มทุกที่ แบบนี้ไม่ตายเหรอ ไม่ควรทำในต่างประเทศอย่างยิ่ง (และที่สำคัญคุณจะไม่มีทางผ่าน ตม.ญี่ปุ่นไปได้เลยถ้าคุณ ยังไม่มีที่พัก)
2. แบบจองไปก่อน มีสามวิธีคล้ายการจองตั๋วเครื่องบินครับ
- จองผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยจองผ่านหน้าร้าน
- จองออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมโดยตรง
- จองออนไลน์ผ่านตัวแทนรับจองโรงแรม ผมขอแนะนำสองเว็บไซต์นะครับ
http://www.booking.com/ >>> วิธีการจองไม่ยากครับ พิมพ์ชื่อเมืองและวันที่จะเข้าไปพัก หลังจากนั้นก็มีโรงแรมขึ้นมาให้เลือกมากมาย ส่วนวิธีชำระเงินก็แสนง่าย เพียงแค่เอาบัตรเครดิตไปค้ำประกัน (จะตัดยอดเงินต่อเมื่อคุณไม่เข้าพักในวัน เวลาที่จองไว้) แต่ถ้าคุณไปในวันที่คุณจองไว้ ทางเว็บไซต์ก็จะไม่ตัดยอดเงินของคุณ แต่ให้คุณเอาเงินไปชำระในวันที่เข้าพักจริง
http://www.agoda.com >>> เหมือนเว็บไซต์แรกทุกอย่างต่างกันแค่เพียงวิธีชำระเงิน คือ เว็บนี้เมื่อคุณกรอกข้อมูลบัตรเครดิตไปและยืนยันการสั่งจอง เว็บไซต์จะตัดยอดบัตรเครดิตของคุณทันที
** ส่วนของผมจองผ่านทั้งเว็บ booking/agoda โดยโจทย์ของผมมีอยู่
1. จำนวน 6 คืน 2 คน ราคาต้องไม่เกิน 12,000 บาท (คนละ 6,000 บาท/คืนละไม่เกิน 1,000 บาท)
2. ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ
3. ขอนอนโรงแรมแบบญี่ปุ่นโบราณ มีออนเซนอาบสักคืนสองคืน
4. หากเลือกได้ไม่ขอห้องน้ำรวม
5. สำคัญ คือ ไม่นอนรวมกับคนอื่น (ส่วนได้ไม่ได้เดี๋ยวรอติดตามรีวิวนะครับ)
*** ข้อมูลข้อต่อไปสำคัญสุด ๆ ครับ จะรอดหรือจะร่วงอยู่ที่ข้อนี้ครับ
6. จองหรือหาวิธีการเดินทาง
ถือเป็นข้อที่สำคัญมาก ๆๆๆๆ เพราะเมื่อเรามีโปรแกรม (ตามข้อ 2) คราวนี้เราต้องมาศึกษาและทำการจอง หรือซื้อ ตั๋วรถ หรือยานพาหนะที่จะพาเราจากจุดหนึ่ง ไปยังจุดหนึ่ง แต่ไม่ต้องกลัวครับ เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ระบบคมนาคมดีลำดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งวิธีเดินทางที่ง่าย (แต่ไม่ถูก) ที่สุด คือ รถไฟ
รวมกระทู้อธิบายและสอนวิธีใช้รถไฟในญี่ปุ่น
วิธีการดูแผนผังรถไฟในโตเกียว...แบบง่าย ๆ (ลดความมึนงง) (ของคุณมองได้..แต่อย่าชอบ)
วิธีซื้อตั๋ว 1 Day ของ JR + วิธีเติมเงินบัตร Suica/IC ที่ญี่ปุ่น (ของคุณ CEOTHAI42)
รวมมิตรสารพัด Pass จากเมืองเหนือ*** Hokkaido สู่เมืองใต้*** Kyushu... (ของคุณ CEOTHAI42)
คู่มือ JR RAIL PASS
วิธีการขึ้น การลง การดูตาราง ดูประเภทรถไฟ (ของคุณกล่องเปล่า)
การเดินทางโดยรถไฟ
จะใช้ Pass อะไรดีถึงถูกที่สุด ? ซื้อ JR PASS คุ้มไหม
เป็นคำถามที่จะมีมาให้คุณปวดหัวแน่นอน ถ้าคิดจะไปญี่ปุ่น เพราะ Pass โน้นก็ถูก Pass นี่ก็ถูก พอไปถามคนโน้นคนนี้ก็ไม่ได้คำตอบที่ใช่อีก ไม่รู้จะเดินทางด้วย Pass ไหนดี หรือเดินทางด้วยอะไรดีระหว่างรถไฟ รถบัส เรือ และเครื่องบิน วันนี้ผมขอเอาวิธีแก้มานำเสนอครับ
1. ให้เอาโปรแกรมการเดินทางของคุณมาแจกแจงแบบละเอียดเป็นวัน ๆ
2. ทำตารางขึ้นมา 4 ตาราง
ตารางแรก >>> ให้คิดค่าใช้จ่ายโดยไม่ใช้ Pass อะไร เลย (โดยวิธีการเดินทางด้วยรถไฟ)
ตารางสอง >>> ให้คิดค่าใช้จ่ายโดยไม่ใช้ Pass อะไรเลย (โดยวิธีการเดินทางด้วยยานพาหนะอะไรก็ได้ เช่น รถไฟ รถบัส เรือ เครื่องบิน แต่ต้องเป็นวิธีการเดินทางที่ถูกที่สุด) = เท่าไหร่
ตารางสาม >>>ให้คิดค่าใช้จ่ายโดยไม่ใช้ Pass JR Pass = เท่าไหร่
ตารางสี่ >>> ให้คิดค่าใช้จ่ายโดยไม่ใช้ Pass อื่น (เช่น คันโตพาส คันไซพาส) = เท่าไหร่
3. ลองเอามาดูว่าแบบไหนถูกที่สุด
4. เมื่อดูแล้วลองดูอีกครั้งว่าจะใช้วิธีไหน ปรับเปลี่ยนกับวิธีไหน ทำให้ถูกกว่านี้ได้อีกหรือไม่
ตัวอย่าง
**สำคัญมาก
>> จะรู้ได้อย่างไรว่ารถไฟจากไหนไปไหนมีกี่โมง หรือมีรอบไหน และราคาเท่าไหร่
>> ทำตามที่บอกดังต่อนี้นะครับ
1. ทำโปรแกรม (ตามข้อ 2)
2. เข้าเว็บ http://www.hyperdia.com/en/
3. ระบุว่าจาก (From) ไป (To) วันที่...ทำทุกวันและทุกรอบ หลังจากนั้นก็ Save ข้อมูล
4. พริ้นท์ลงกระดาษ นำไปญี่ปุ่นด้วย
5.**** เมื่อไปถึงญี่ปุ่น กระดาษที่เราพริ้นท์ไปจะมีประโยชน์ ดังนี้
- ทำให้เราคุมเวลา และแผนการเดินทางของเรา ไม่ผิดพลาด
- เมื่อเราไม่รู้ว่ารถไฟขบวนดังกล่าว ขึ้นที่ชานชาลาไหน สามารถชี้ถามคนได้โดยง่าย
- เมื่อเราต้องการซื้อตั๋ว เราก็แค่ชี้แล้วบอกคนขายว่าเราต้องการซื้อตั๋วรถขบวนนี้
- เมื่อเราขึ้นบนรถไฟ ถ้าเราไม่แน่ใจว่าคันนี้หรือไม่ สามารถชี้ถามคนได้โดยง่าย
ตัวอย่างบางส่วนที่ผมทำไป
7. เตรียมอุปกรณ์การเดินทางและเครื่องใช้ส่วนตัว
7.1. กระเป๋า นักเดินทางทุกคนที่ผมสังเกตมาจะใช้กระเป๋าเดินทาง 3 แบบ (อย่างหนึ่งอย่างใด) ไม่มีมากไปกว่านี้แน่นอน
กระเป๋าเป้ : มีหลายขนาดหลายราคาแล้วแต่ชอบครับ หากใครตัดสินใจไม่ถูกว่าจะใช้รุ่นไหนแบบไหนลองดูกระทู้ต่อไปนี้
>>> http://pantip.com/topic/30917071 (ของคุณสมาชิกหมายเลข 869156)
>>> http://pantip.com/topic/30121390 (ของคุณ Takterest)
กระเป๋าล้อลาก : มีหลายขนาดหลายราคาแล้วแต่ชอบครับ หากใครตัดสินใจไม่ถูกว่าจะใช้รุ่นไหนแบบไหนลองดูกระทู้ต่อไปนี้
>>> http://pantip.com/topic/30950209 (ของคุณสมาชิกหมายเลข 726925)
>>> http://pantip.com/topic/31065850 (ของคุณตัวเล็กเด็กกบ)
กระเป๋าถือ : กระเป๋าที่ไม่ใช่กระเป๋าเป้หรือกระเป๋าที่มีล้อลาก แต่เป็นกระเป๋าที่ต้องใช้มือถือกระเป๋าเวลาเคลื่อนย้าย กระเป๋าประเภทนี้ไม่แนะนำครับ ยกเว้นไปในทริปสั้น ๆ ไม่กี่วัน เพราะกระเป๋าประเภทนี้ถ้าเล็กไปก็จะใส่อะไรได้น้อย (ขากลับเกิดซื้อของฝากมามากใส่ไม่หมดแน่นอน) หากใหญ่ไปก็ถือไม่ไหวแน่นอน
*** ใครเหมาะสมใช้กระเป๋าอะไร แบบไหนก็แล้วแต่ วิธีการเดินทางของแต่ละคน
หากใครเดินทางไม่มากและค่อนข้างมีอายุ >> แนะนำให้ใช้กระเป๋าล้อลาก เพราะไม่ต้องมามัวสะพายหลังให้หนักกันอยู่
หากใครเดินทางมาก เปลี่ยนโรงแรมเกือบทุกวัน >> แนะนำกระเป๋าเป้ครับ เพราะไม่อย่างนั้นแค่คุณยกกระเป๋า (ล้อลาก) ขึ้นสถานนี้รถไฟหรือขึ้นรถบัส คุณก็เกือบจะเป็นลมแล้ว และที่สำคัญล็อกเกอร์ฝากกระเป๋าตามสถานี JR ไม่สามารถยัดกระเป๋าล้อลากใบใหญ่ ๆ เข้าไปได้แน่นอน
ซึ่งการเดินทางของผมในทริปนี้และเกือบทุกทริป (เวลาไปต่างประเทศ) ผมจะใช้กระเป๋าเป้เสมอ
7.2. เครื่องแต่งกาย
ก่อนอื่นขอฝากบทกลอนขำ ๆ (แต่จริงที่ผมเจอและแต่งมาจากประสบการณ์ตรง) ให้คุณได้ทราบไว้เลยครับ
ในญี่ปุ่น ยามหนาว มันหนาวมาก ตั้งแต่ปาก ไปยันไ.่..(ไหล่และไข่)
ชอบหนาว สักเพียงไหน จงจำไว้ เอาไม่อยู่
ยิ่งลม พาหนาวมา มือจะชา ตัวจะคู้
หนาวสุด ทุกอณู ยอมเลยตรู สุดหัวใจ
ญี่ปุ่น เขาปิดปาก เห็นมาก ๆ ชักมั่นใส่ (คิดว่า ขาใส่ทำเท่)
พออยู่ นานวันไป เริ่มเข้าใจ ว่ากันลม
ไอ้เรา ไม่ปิดปาก หนาวมาก ๆ เริ่มสะสม
ใบหน้า ที่คม ๆ ก็โดนลม เล่นงานไป
(สุดท้ายก็ โดนลมทำให้หน้าชา และแห้งและแตก ยังกะดินโดนแดดครับ)
ดังนั้น จึงขอสรุปง่ายครับว่า อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่าไปญี่ปุ่นเดือนไหน ฤดูไหน (ดูรายละเอียดจาก http://www.tpa.or.th/jsociety/) เมื่อรู้ว่าเราไปช่วงไหนแล้วก็ใส่เครื่องแต่งกายให้เหมาะสมแล้วกันนะครับ
*** ผมขอแนะนำวิธีการแต่งตัวช่วงหน้าหนาวให้แล้วกันครับ ซึ่งผมไปมาในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี
วิธีการแต่งตัวกันหนาว
1. ชั้นในสุด กางเกงลองจอน เสื้อลองจอน หรือเสื้อทับ เสื้อบาง ที่เอาไว้ใส่เป็นชั้นเบื้องต้น
2. ชั้นสอง ด้านบนอาจเป็นเสื้อยืด ล่างเป็นกางเกงยีนส์หรือลูกฟูก
3. ชั้นสาม Sweater เสื้อแขนยาว
4. สุดท้าย คือ เสื้อกันหนาวกันลม
5. ถุงมือ ผ้าพันคอ หมวก ถุงเท้า
6. ปิดท้ายด้วยโค้ทและผ้าปิดปาก
7.3. วิธีโทรศัพท์หรือติดต่อกลับเมืองไทย มีหลายวิธี ดังต่อไปนี้ครับ
1. เปิดบริการโรมมิ่ง (International Roaming)
ซึ่งเป็นการให้บริการจากเครือข่ายมือถือในประเทศที่คุณใช้อยู่ เพื่อให้คุณสามารถใช้เบอร์เดิมได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม หากอยากศึกษาหรือรู้เทคนิคการใช้โรมมิ่ง
อ่านเพิ่มเติมดูนะครับ >>> http://www.windowsphone.com/th-th/how-to/wp8/start/whats-data-roaming ทั้งนี้ มือถือที่จะนำไปใช้ในญี่ปุ่นได้ต้องเป็นมือถือที่รองรับระบบ 3G เท่านั้น
2. ซื้อซิมในญี่ปุ่น โทรศัพท์กลับไทย
>>> http://www.cookiecoffee.com/news/55656/chameleon-4g-sim-card-japan-fastest-cheapest
3. โทรศัพท์ผ่านระบบเน็ต โดยทำการเช่า pocket wifi
>>> http://japaijapan.com/how-to-rental-pocket-wifi
>>> http://pantip.com/topic/30985190 (ของคุณ robertmcdonal)
4. บริการเช่าซิมจากบริษัทในเมืองไทย โทรศัพท์จากญี่ปุนกลับเมืองไทย
>>> http://www.matrixsim.com/services_th.php
** ผมใช้บริการตามข้อ 3 และ 4 โดยเฉพาะข้อ 4 "matrixsim" >>> ผมใช้บริการประจำทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ ข้อดี คือ สัญญาณดี ติดต่อง่าย ใช้ง่าย คนโทรศัพท์หาง่าย (และเมื่อมีคนโทรศัทพ์มาหาเรา เราไม่ต้องเสียเงิน) ไม่ต้องไปรับซิมที่บริษัทแต่จะมีคนส่งมาให้ถึงที่ ราคาถูก (กว่าบริการโรมมิ่ง) เน็ตไม่รั่วไม่ไหล แต่ข้อเสีย คือ เขาเก็บเงินประกันไปก่อน (500-1,000 บาท แล้วแต่ประเทศ ถ้าใช้บริการไม่ถึงจะคืนเงินประกันให้ทีหลัง) แต่เงินประกันคืนช้ามาก ๆๆๆๆ แต่โดยรวมใช้ได้และใช้ดีครับ
7.4. อุปกรณ์ถ่ายรูป
จะนำอุปกรณ์ถ่ายรูปไปต่างประเทศ ควรทำดังต่อไปนี้
1. ตรวจเช็กตัวกล้อง : ตรวจเช็กระบบการทำงานให้พร้อมว่ากล้องทำงานปกติเรียบร้อยหรือไม่ ลองเปิดสวิตช์แล้วกดชัตเตอร์ถ่ายภาพดูก่อนออกเดินทางว่ากล้องทำงานได้ปกติหรือไม่
2. แบตเตอรี่/เครื่องชาร์จ : ชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม และควรมีแบตเตอรี่สำรองอย่างน้อยอีก 1 ก้อน หรือถ้าเป็นกล้องที่เก็บไว้ ไม่ได้ใช้งานนานเป็นเดือน ควรนำแบตเตอรี่มาชาร์จใหม่ให้เต็มก่อนอีกครั้ง อย่าชะล่าใจว่าคราวที่แล้วก่อนเก็บกล้องได้ชาร์จแบตเตอรี่เต็มเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะพวกแบตเตอรี่ชาร์จที่เก็บไว้นานเป็นเดือน จะมีการคายประจุตัวเองตลอดเวลาแม้ไม่ได้ใช้งานก็ตาม และหากเก็บไว้นานมาก ๆ หลายเดือน อาจเจอปัญหาแบตเตอรี่เสื่อม
3. เมมโมรี่การ์ด : เตรียมขนาดความจุการ์ดให้เพียงพอกับจำนวนภาพที่เราคาดว่าจะถ่าย
4. กระเป๋าใส่กล้อง : เลือกที่ขนาดพอเหมาะกับกล้องและจำนวนอุปกรณ์ที่ติดไปด้วย และประเภทกระเป๋าที่สะดวกกับการใช้งาน
ซึ่งอุปกรณ์ที่ผมได้นำไปครั้งนี้ ได้แก่
กล้อง Nikon D7000 พร้อมเลนส์ normal และเลนส์ FIX 50 พร้อมขาตั้ง
กล้องฟิล์ม Horizon กล้องตัวใหญ่มุมกว้างจากรัสเซีย (เพื่อเอาไปถ่ายภาพมุมโค้งและวิวพาโนรามา)
7.5. คาดคะเนค่าใช้จ่าย
วิธีการคาดคะเนค่าใช้จ่ายให้ตีเผื่อไว้ (เพราะหากตีไปพอดีแล้วนำเงินไปไม่พอมันจะลำบากภายหลัง) ซึ่งผมมีสูตรการคาดคะเนค่าใช้จ่าย ดังนี้
ค่ากินต่อมื้อ x จำนวนมื้อ = a
ค่าที่พัก (ที่ยังไม่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิต) x จำนวนคืนเข้าพัก = b
ค่าเดินทาง x จำนวนครั้ง = c
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงค่าช้อปปิ้ง = d
"A + B +C +D = เงินขั้นต่ำที่ต้องเตรียมไป"
สำหรับผมคิดได้ตามสูตรแบบนี้ คือ
ค่ากินต่อมื้อ x จำนวนมื้อ = a … 500 x 24 = 12,000 บาท
ค่าที่พัก (ที่ยังไม่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิต) x จำนวนคืนเข้าพัก = b .... 1,000 x 6 = 6000 บาท
ค่าเดินทาง x จำนวนครั้ง = c ... ค่าเดินทางผมคิดมาแล้วได้ 12,000 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงค่าช้อปปิ้ง = d ... ของผม คือ 10,000 บาท
รวมแล้วได้ 40,000 บาท x 2 (ผมไป 2 คนกับแฟน) = 80,000 บาท <<< คือเงินขั้นต่ำที่ต้องแลกไปสำหรับ 2 คน (ให้ตีเผื่อไว้เพราะเหลือดีกว่าขาด และสุดท้ายผมก็เหลือจริง ๆ โดยแลกไป 1 แสนบาท/2คน เหลือกลับมาเกือบ 4 หมื่นบาท)
7.6. แลกเงิน
เงินตราและอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญที่ใช้กันในญี่ปุ่นมีราคา 1, 5, 10, 50, 100 และ 500 เยน ตามลำดับ ธนบัตรมีใช้ราคา 1,000 2,000 5,000 และ 10,000 เยน เงินสกุลอื่น ๆ ที่นำเข้าไปในญี่ปุ่น จะแลกเป็นเงินเยนได้ที่ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา ในท่าอากาศยานที่เดินทางไปถึงหรือแลกได้ตามธนาคารในเมืองต่าง ๆ อัตราแลกเปลี่ยนขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวัน ธนาคารส่วนมากจะมีป้ายบอกราคาอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน ติดไว้ให้เห็นชัดเจน ดังต่อไปนี้ เงินเหรียญสหรัฐ ปิดประกาศ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป เงินสกุลอื่น ๆ จะปิดประกาศอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันตั้งแต่เวลา 11.00 น. ไปจนถึง 15.00 น. โปรดแลกเงินของท่านตามช่วงเวลาที่ระบุไว้นี้ เพื่อป้องกันความขลุกขลัก (ข้อมูลจาก bushido.co.jp)
>>> แลกที่ไหน ?
ขอแยกเป็น 2 ที่ 2 ประเภทครับ
1. ธนาคารทั่วไป (มีอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิหลายธนาคาร)
2. ร้านรับแลกเงินตราต่างประเทศ
ถ้าอยากรู้ว่าที่ไหนราคาดีกว่ากันยังไง ให้ดูได้จากเว็บนี้ครับ >>> http://bahtcheck.com/
ซึ่งตอนที่ผมแลกไปอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.55 บาท = 100 เยน ดังนั้น ผมแลกไป 1 แสน ก็ได้ 3 แสนกว่า เยน
วิธีคิดว่า เยน = กี่บาท
จำนวยเยน x 0. Rate เงินที่เราแลกมา (0.31.55) เช่น ของสิ่งนี้ราคา 1,000 เยน 1,000 x 0.31.55 = 315.5 ของราคา 1,000 เยน เท่ากับ 315.5 บาท
คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับญี่ปุ่น
ถาม : ยากไหมสำหรับการไปเที่ยวญี่ปุ่น ?
ตอบ : ง่ายมากครับ ถึงแม้ไม่ใช่ประเทศไทยเรา แต่มันง่ายพอ ๆ กับเที่ยวในประเทศไทยเราเอง เพราะญี่ปุ่นมีระบบคมนาคมที่ดี ทั่วถึง และตรงเวลา ที่สำคัญญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนไทยรีวิวเยอะมาก จริง ๆ ดังนั้น ก่อนไปลองหาอ่านรีวิวเก่า ๆ ทำการบ้านให้ดี ๆ ทำให้รู้เลยว่าไม่ยาก
ถาม : ทำไมถึงต้องเลือกไปญี่ปุ่น ?
ตอบ : ง่าย ถูก สวย ครบ ก่อนอื่นผมขอเล่าก่อนครับว่าผมไปมาหลายประเทศ แต่ไม่เคยมีญี่ปุ่นอยู่ในหัว เลยแม้แต่น้อย เหตุเนื่องจากว่าคิดว่าญี่ปุ่นไม่มีอะไร มีแต่พวกแฟชั่น ช้อปปิ้ง และก็กิน จนวันหนึ่งแฟนผมชวนแล้วชวนอีก จนผมตัดสินใจว่าเออไปก็ไปวะ เพราะ "ง่าย" ซึ่งใคร ๆ ก็ไปได้วีซ่าไม่ต้องขอ อยากไปตอนไหนก็ไปได้ หลังจากตัดสินใจไปซื้อตั๋วเครื่องบินเสร็จ ผมเริ่มทำการบ้านหาข้อมูลสถานที่ที่จะไป จึงรู้เลยว่าประเทศนี้มี "ครบ" ทั้งป่าไม้ ภูเขา ทะเล หิมะ วัฒนธรรม โบราณสถาน และเมื่อได้ไปจริงจึงรู้เลยว่าของจริงมัน "สวย" มาก ๆ และเมื่อกลับมาจึงรู้เลยว่าไปญี่ปุ่น "ไม่แพง" อย่างที่คิด
ถาม : ค่ากิน ค่านอน ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางแพงไหม ?
ตอบ : ไม่แพงครับ ยิ่งถ้าเทียบกับยุโรป ญี่ปุ่นถือว่าถูกเลย และถ้าเทียบกับเมืองไทย (ย่านการค้าใน กทม.) ก็พอ ๆ กัน เช่น ข้าวกล่องราคาร้อยถึงสองร้อยกว่าบาท, กินข้าวร้านอาหาร กินแบบธรรมดา ตกมื้อละสอง ถึงสามร้อยกว่าบาท ดีขึ้นมาหน่อยก็สี่ถึงห้าร้อยกว่าบาท, ที่พักเอาแบบนอนได้ไม่เก่า ไม่สกปรก ไม่นอนรวมกับคนอื่น ราคาคืนละพันถึงสองพันบาทต่อสองคน, ขนม ของฝากราคา ก็ไม่แพงมากเกินไป ร้อยบาท สองร้อยบาท สามร้อยบาท แล้วแต่สภาพ แต่ที่อาจจะแพงหน่อย คือ รถไฟ และการเดินทาง
ถาม : จริงเหรอในญี่ปุ่นต่อราคาและการให้ทิปเป็นการผิดมารยาท ?
ตอบ : การต่อราคาผิดมารยาทหรือเปล่าไม่ทราบนะ แต่ผมไปผมก็ต่อ (ซึ่งผมเห็นคนญี่ปุ่นบางคนก็ต่อ) คนขายก็ไม่ได้ว่าอะไร ให้บ้างไม่ให้บ้าง ขนมของฝากก็เหมือนกัน บางที่ไม่ลดแต่แถมให้ ส่วนเรื่องให้ทิปนี้ ได้ยินมาจากหลายคนเลยไม่กล้าให้ (ส่วนผิดมารยาทหรือเปล่าต้องรอผู้รู้มาให้คำตอบอีกที แต่ที่ผมได้ยินมาส่วนมากบอกว่าไม่ควร)
ถาม : เราจะไปสถานที่นั้น ๆ ได้อย่างไร ถ้าเราไม่เคยไปมาก่อน ?
ตอบ : แนะนำให้ครับ ตอนแรกผมก็มีคำถามนี้ในใจ ผมจึงตัดว่าต่อไปจะไปที่ไหนต้องไปเดินเล่นแถวนั้นสักสองสามรอบก่อนดีกว่า (ไปเดินโดย Google Streetview) หากใครสงสัยว่าคืออะไร ใช้ยังไงลองเข้าไปดูนะครับ >>> http://www.it24hrs.com/2012/how-to-used-google-streetview-thailand/
ถาม : ออนเซนในญี่ปุ่นต้องแก้ผ้าลงหมดเลยเหรอ หรือมีที่ไหนไม่ต้องแก้บ้างไหม ?
ตอบ : ใช่ครับ ส่วนมากเกือบทั้งประเทศต้องแก้ผ้า ส่วนมีที่ที่ไม่ต้องแก้ผ้าลงมีไหม หรือมีวิธีไหนไหมที่ต้องอาบออนเซนแก้ผ้าโดยไม่ต้องอายคน (มีครับ ลองดูกระทู้นี้มีคำตอบ >>> http://pantip.com/topic/31591246/comment4)
ถาม : จริงไหมว่าคนญี่ปุ่นช่วยเหลือนักท่องเที่ยวดีมาก และผู้หญิงญี่ปุ่น (ใส่ชุดประจำชาติหรือชุดแปลก ๆ) เวลาไปขอถ่ายรูปมักไม่ค่อยให้ถ่าย ?
ตอบ : เอาเรื่องแรกก่อนนะครับ คนญี่ปุ่นร้อยละ 90 ใจดีครับ (ขอเอาตามที่เจอมากับตัวนะ) ใจดีกับนักท่องเที่ยว ถามอะไรเขายินดีช่วย ยินดีตอบ บางคนขนาดพาเราไปส่งถึงที่ แต่บางคนก็ไม่สนใจและทำหน้าดูถูกเหยียดหยามเราเมื่อเราเดินไปถามก็มี (แต่ส่วนน้อย) คนญี่ปุ่นดีกับนักท่องเที่ยวแต่ไม่ดีกับคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง ตามที่ผมสังเกตมา บางครั้งคนแก่ขึ้นรถไฟก็ไม่ลุกให้นั่ง คนพิการข้ามถนนก็ไม่สนใจ คนนั่งรถเข็นขึ้นเนินก็ไม่มีใครไปช่วยเข็น จนผมทนดูไม่ได้ต้องไปช่วย (เหตุการณ์ที่เล่ามาคือเรื่องจริงที่ผมเห็นกับตาในโตเกียว) แต่มีนิสัยที่ผมชอบอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่น คือ เขามีความรักชาติและปลูกฝังให้ลูกหลานรักชาติกันได้ดีมาก (เดี๋ยวค่อยไปเล่าตอนผมรีวิวแล้วกัน)
ส่วนเรื่องผู้หญิงญี่ปุ่นใส่ชุดประจำชาติ เวลาเราขอถ่ายรูปมักไม่ให้ถ่าย (เรื่องนี้ผมเคยอ่านเจอใน Pantip แต่ไม่เชื่อครับ) เมื่อผมเจอ ผมกับแฟนก็ลองไปขอถ่ายรูปเลย เขาดีนะเขาบอกว่าจะให้เขาถ่ายให้เหรอ มาเดี๋ยวเขาถ่ายให้ ผมบอกไม่ใช่ ขอถ่ายคุณ เขาบอกไม่เอา อายยยย (คิดในใจว่าคงเป็นแค่คนนี้ จึงลองไปขออีกคนในอีกเมืองหนึ่ง คำตอบที่ได้มาคือเหมือนกัน คือ บ่ได้เด้อ)
ถาม : ห้องในญี่ปุ่นมีปุ่มอะไรต่ออะไรเต็มไปหมดจริงเหรอ ?
ตอบ : จริงครับ (ดูในรูป)
สีฟ้า >> ที่ฉีดก้น, สีชมพู >> ที่ฉีดสำหรับผู้หญิง, สีส้ม >> หยุด, สีเหลือง >> เป่าแห้ง, บางที่มีรูปตัวโน้ต >> กลบเสียง (ตด), เครื่องหมายบวก >> เพิ่มความแรง และเครื่องหมายลบ >> ลดความแรง
ถาม : กรณีฉุกเฉินต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : กดโทรศัพท์สาธารณะได้เลยที่เบอร์ 110 (ตำรวจ) และ 119 (รถพยาบาล)
หมายเหตุ : ติดตามรีวิวการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นของ คุณมิลานน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้ที่นี่จ้า ตะลุยเที่ยวญี่ปุ่น ตามสถานที่ท่องเที่ยวฮอตฮิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น